วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สร้างเว็บไซต์ห้ามลืม "4P"

***ดีไซน์ดี เว็บก็ทำเงิน
       บทความโดย @malimali
      
       กลยุทธ์ทางการตลาดที่เราใช้ในการเพิ่มโอกาสให้สินค้าหรือบริการเรา ขายดี เราก็รู้กันอยู่มานมนานแล้วว่ามี 4 ทาง หรือ 4P ซึ่งมันก็ปรับใช้กับเว็บได้เช่นกัน ได้แก่
      
       1. Product ตัวสินค้าควรจะมีดีพอที่จะให้คนซื้อไปเพื่อได้ใช้ประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็น่าสนใจพอที่จะทำให้ซื้อ ขณะที่ตัวเว็บเองก็ต้องมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ (หรือลูกค้า) ควรมีการใช้งานที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ
      
       2. Place สถานที่ที่วางขายถ้าอยู่ในทำเลดีที่ ก็มีคนเห็นสินค้าเราเยอะ โอกาสในการขายก็จะสูงตามไปด้วย ถ้าในแง่เว็บก็ตรงกัน คือ หาวิธีที่ทำให้คนรู้จักเว็บเราก่อน ถ้าไม่รู้จักเว็บเรา เว็บเราจะดีขนาดไหนก็จบกัน ซึ่งในโลกดิจิตอล และยุคโซเชียลมีเดียนั้น ไอเดียในการที่จะทำให้คนรู้จักเว็บเราก็มีมากมายหลายทาง
      
       3. Price ถ้าเป็นเว็บที่ให้บริการเนื้อหา คนส่วนใหญ่คงไม่ได้คิดว่าต้องเสียเงินอะไรในการเข้าชมเว็บ ในแง่นี้ จริงๆแล้วอย่างน้อยผู้ใช้ก็ยังต้องเสียเวลาเข้าไปเสพ ไปใช้เนื้อหา หรือประโยชน์ในเว็บนั้นอยู่ดี ส่วนเว็บที่มีการขายของ ปัจจุบันก็ใช้กลยุทธ์ทางราคาเพื่อดึงให้ลูกค้ามีความสนใจที่จะซื้อในเว็บ อยู่แล้ว
      
       4. Promotion โปรโมชันหรือกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการในการซื้อ เช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือลด 50% ตรงนี้เราสามารถทำโปรโมชันที่จะทำให้เกิดความต้องการที่จะเข้าไปในเว็บได้ เช่น การแถมบัตรลดราคาตั๋วภาพยนตร์ เพื่อดึงคนเข้าไปเป็นสมาชิกเว็บ เป็นต้น
      
       ไม่ว่าเราจะใช้ P ไหนมากกว่ากัน แต่ P ตัวแรก หรือ Product ก็มักจะเป็นตัวเริ่มต้นธุรกิจในหลายๆกรณี ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นบริการ หรือเป็นเว็บไซต์ หรือแม้แต่เว็บบล็อกหนึ่งบล็อก ก็ต้องใส่ใจใน P ตัวนี้ไม่ต่างกัน จุดร่วมมันอยู่ตรงที่ว่า การทำให้ Product ของเรา มีคุณสมบัติหลักๆดังต่อไปนี้
      
       1. มีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้ ใช้มันเพื่ออะไร
      
       เช่น เว็บไซต์ amazon.com สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นชุมชนการซื้อขายหนังสือออนไลน์, เว็บไซต์ Tarad.com สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดแหล่งซื้อขายของกันทางออนไลน์ สำหรับผู้ค้ารายย่อยในประเทศไทย หรือเว็บไซต์ Typlive.com ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยให้ติดต่อธุรกิจที่ต้องการได้
      
       นี่คือจุดประสงค์ที่ดูเหมือนจะง่ายๆ เรียบๆ ถ้ามีจุดประสงค์ที่ซับซ้อน ลอยๆ เว็บนั้นก็สำเร็จได้ยาก เพราะขนาดเจ้าของยังบอกได้ไม่ชัดๆลงไปว่าจุดประสงค์ของเว็บคืออะไร
      
       2. มีความน่าใช้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า
      
       ถ้าพูดเรื่องความน่าใช้ ก็ต้องยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Apple ได้แก่ MacBook, iPod, iPhone, iPad ซึ่งมีความน่าใช้งานตั้งแต่แรกเห็น หรืออย่างสินค้าสารพัดจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความน่ารัก สวยงาม น่าใช้ น่าเข้าไปกระโดดใส่ ตั้งแต่แรกเห็นเช่นกัน
      
       ตัวอย่างคือเว็บไซต์ etsy.com ที่เปิดมาก็จะเจอของสวยงามแฮนด์เมดจากผู้ค้าหลายคนในเว็บไซต์ จัดวางอยู่บนหน้าอย่างระเบียบเรียบร้อยน่าคลิกเข้าไปดู
      
       3. เติมเต็มความต้องการของผู้ใช้หรือไม่
      
       ถ้าจะเปิดร้านอาหารที่ทำเลใดทำเลหนึ่ง ก็ต้องดูว่า พื้นที่นั้นมีความต้องการร้านอาหาร ต้องการซื้ออาหารนอกบ้านหรือไม่ อย่างเช่น ต่างจังหวัดในบางพื้นที่ ที่การท่องเที่ยวยังไม่บูม การทำร้านอาหาร ก็เสี่ยงต่อการที่จะไม่มีลูกค้า บางชุมชนที่มีความนิยมในสินค้าหรือเว็บไซต์อันใดอันหนึ่งแล้ว การที่จะไปทำในลักษณะเดียวกันก็ยาก อย่างเช่น บริการ Google Wave ที่ต้องปิดตัวไป เพราะไม่ได้ตอบสนองความต้องการไปเท่ากับหรือมากกว่าสิ่งที่ Facebook ให้ได้
      
       4. มีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดีหรือไม่
      
       ถ้าสนองตอบความต้องการแล้ว นอกจากจะดูน่าใช้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดีด้วย ก็มีสิทธิที่จะทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกดีๆขึ้นกับเว็บเรา Application Instagram เป็นอีกตัวอย่างบริการออนไลน์ที่ตอบสนองทั้งการตกแต่งรูปที่ง่ายสำหรับคน ทั่วไป ใช้ง่าย และเมื่อใช้แล้วก็รู้สึกดี เป็นสูตรสำเร็จที่ว่า ทำไม Instagram ถึงได้เป็นที่นิยมมากขนาดนี้
      
       หรืออย่างเช่นเว็บชุมชนรูปภาพอย่าง Flickr.com ที่การอัปโหลดรูปหลายๆรูปสามารถทำได้อย่างง่ายดาย และเห็นว่า แต่ละรูปได้อัปโหลดไปถึงไหน สำเร็จหรือไม่ด้วย ซึ่งมีประโยชน์มากๆ
      
       5. ใช้แล้ว ผู้ใช้อยากกลับมาใช้ซ้ำหรือเปล่า
      
       เมื่อเกิดความประทับใจจากการใช้ครั้งแรกๆแล้ว ก็มักจะเกิดการอยากกลับมาใช้ต่อๆมา โอกาสที่เราจะได้ผู้ใช้ประจำก็ตรงจุดนี้ ในเว็บไซต์เราสร้างกลไกอะไรให้เขาอยากกลับมาใช้เรื่อยๆหรือเปล่า
      
       ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Dribbble.com ที่ให้เป็นแหล่งชุมชนของชาวศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์สร้างผลงานออกมา เมื่อชาวติสท์ด้วยกันเกิดความประทับใจและเพลินในการชมชิ้นงาน แม้ว่าชิ้นงานจะเป็นตัวเอกของเว็บ แต่องค์ประกอบอื่นๆของเว็บก็ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ให้งานที่โชว์ยิ่งเด่นมากขึ้น และให้การเยี่ยมชมมีความสนุกสนานเช่น การเลือกชมผลงานตามสี และมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆด้วย
      
       ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันจะเกิดขึ้น ก็คือในช่วงวางแผนและออกแบบ การออกแบบที่ดี ควรจะออกแบบให้มีครบทั้ง 5 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่การวางจุดประสงค์ที่เรียบง่ายชัดเจนในการมีเว็บไซต์ ไปจนถึงการที่จะแปลงจากผู้มาเยี่ยมชมเว็บไซต์มาเป็นสมาชิกประจำเป็นสำคัญ
      
       ที่สำคัญ การออกแบบดีไซน์ไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้เว็บมีความสวยงามเท่านั้น ภารกิจของการออกแบบนั้นมีมากกว่านั้นมากมาย และที่สำคัญกว่าคือ การจะได้รายได้จากเว็บไซต์ ไม่ว่าเราจะให้บริการออนไลน์ หรือขายสินค้าออนไลน์ ถ้าสินค้าหรือบริการเรา มีคุณภาพครบ 5 ข้อ ตามด้านบนแล้ว ก็จะมีความสามารถที่จะต่อยอดไปสู่ P อื่นๆ หรือแม้แต่ด้วย ตัวสินค้าบริการเอง ที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้เข้ามาประจำ นอกจากนี้ยังดีต่อการขายของบนเว็บไซต์ ลูกค้าสามารถหาข้อมูลได้อย่างง่ายและรวดเร็ว เห็นข้อมูลสินค้าบริการอย่างชัดเจน เพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น
      
       ในกรณีที่เว็บไซต์เป็นการทำเงินจากการให้บริการ การออกแบบให้บริการมีประสิทธิภาพที่ดี น่าใช้ ผู้ใช้ที่ติดใจกับบริการของเราก็มักจะยินดีพร้อมจ่ายเงินสนับสนุนให้บริการ ของเราอยู่ต่อไปได้ หรือในกรณีเว็บไซต์เป็นการหารายได้จากโฆษณา การที่มีผู้ชมเข้ามามากๆ โอกาสในการเห็นโฆษณาก็มากเช่นกัน
      
       ดังนั้นจำให้ดีว่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบให้เหมาะสมและเพียงพอ ก็อาจจะทำให้ P ตัวนี้ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมันก็อาจจะหมายถึง เงินลงทุนที่อาจจะเสียหายไปไม่น้อยก็มาก

======================
ที่มา : www.manager.co.th
http://www.manager.co.th/CBiZReview/ViewNews.aspx?NewsID=9540000111686